Volkswagen Thing Type 181

VW Type 181 (1969-1978)
          T181 “Kurierwagen” ชื่อที่โฟล์คตั้งให้ หรือในชื่อ “The Thing” ที่คนอเมริกันเรียกขาน คือรถโฟล์คที่พัฒนาต่อจากรถในยุคบุกเบิกที่โด่งดังในฐานะเป็นรถที่กองทัพนาซีเยอรมันผลิตเพื่อใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในนามของ T82 “Kubelwagen” ที่เป็นรถออฟโรดที่เด็กอเมริกันก็ไม่คุ้นเคยอย่างรถเต่าที่เห็นวิ่งกันจนชินตา  ตัวถังของ T181 ได้รับการออกแบบให้เป็นทรงเหลี่ยมไร้ส่วนโค้งอย่างรถเต่า และถูกวางประกบลงบนคัสซีแบบเดียวกับรถเต่าแต่ถูกขยายด้านกว้างออกไปเช่นเดียวกับคาร์มานเกียร์  โดยเปลี่ยนตำแหน่งยึดตัวถังกับเสริมความแข็งแรงระหว่างใต้ที่นั่งตรงเบาะหลังเพิ่ม เสริมความแข็งแรงให้กับตัวถังด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ด้วยการใช้เหล็กชิ้นกว้างปั้มลอน ทั้งคันมีกระจกบังลมหน้าเพียงบานเดียวที่สามารถพับลงมาที่ฝากระโปรงหน้าได้โดยมียางรองรับ มีประทุนหลังคาทำจาก PVC หุ้มโครงเหล็กที่พับเก็บไว้ในด้านหลัง ส่วนประตูขนาดเล็กทั้ง 4 บานทำจากพลาสติคสามารถถอดได้ในไม่กี่วินาที หากขับไม่ไกลมากก็คาดด้วยโซ่กันคนหล่นแทน ขอบชายประตูถูกยกสูงจากพื้นสามารถที่จะลุยน้ำได้อย่างสบาย ตัวรถนั้นมีความยาว 3.78 เมตร ในณะที่ Kubelwagen นั้นสั้นกว่าเพียง 3 เมตร เสาหลังคาคู่กลางสูงเท่าประตูทำหน้าที่รับประตูคู่หน้าและเป็นที่ยึดของบานพับประตูคู่หลัง ใช้กลไกประตู เรือนไมล์ พวงมาลัย และชุดแป้นคันเร่งร่วมกันกับรถเต่า ใช้กันชน ฝากระโปรงหน้าหลัง และบังโคลนรอบคันเป็นของตัวเอง ติดตั้งฮีทเตอร์ไว้ใต้ฝากระโปรงหน้า ฝากระโปรงท้ายเปิดด้วยการกดปุ่มจากภายนอก ระบายอากาศเข้าเครื่องยนต์ผ่านทางครีบด้านข้าง หม้อกรองอากาศวางสูงอยู่ฝั่งขวาเหมือนรถตู้ ไม่มีวัสดุซับเสียงใดๆ มีเพียงผ้ายางซับน้ำเท่านั้น เบาะหุ้มด้วยหนังที่ทั้งไม่อมฝุ่นและเช็ดทำความสะอาดง่าย

ช่วงล่างด้านหน้าใช้เหมือนกับรถเต่าแต่เปลี่ยนข้อต่อพวงมาลัยกับตัวรับแรงกระแทกใหม่ ส่วนช่วงล่างด้านหลังใช้เพลาทดเหมือน Kubelwage และเหมือนกับตู้หน้าวี มีระยห่างสูงจากพื้น 20 ซม. ยังคงใช้แผ่นสปริงเพลทรักษาความสมดุลให้กับล้อหลังเหมือนเดิม ระบบเบรกตอนหน้าเหมือนรถเต่าแต่เบรกหลังใช้ขนาด 230 มม. เหมือนกับรถตู้ นอกจากนั้นยังใช้กระทะล้อ 5 รู ขอบ 14 นิ้ว เหมือนรถตู้เช่นกัน แต่ใช้ยางขนาด 165 SR 14 เครื่องยนต์ 1.5 ลิต 44 แรงม้าที่ 4400 รอบ/นาที ใช้เกียร์ 4 จังหวะแบบรถเต่าแต่เปลี่ยนอัตราทดในเกียร์ต่ำ จนในรุ่นปี 71 ได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร แบบรถเต่า 1302S แต่ลดกำลังอัดลง ถึงแม้ T181 จะเป็น “รถออฟโรดเทียม” เพราะขับเคลื่อนเพียงสองล้อ แต่ก็ใช้งานได้ดีไม่แพ้รถออฟโรดแท้ๆ แต่อย่างใด เพราะทั้งสูงและการวางเครื่องไว้ด้านหลังจึงลุยได้ทุกพื้นถนน แถมยังมีช่วงล่างที่นุ่มนวลผิดจากรถออฟโรดทั่วไป (ชนิดที่รถจี๊บก็ยังให้ไม่ได้) มีกำลังพอเพียงที่จะแบกน้ำหนักถึง 900 กก. ทุกกองทัพในโลกต่างมี T181 เข้าประจำการเพราะที่นั่งตอนหลังนั้นไม่แข็งจนเกินไปถูกใจผู้นำกองทัพ โฟล์คจัดให้ T181 เป็นรถเอนกประสงค์เมื่อคราวเปิดตัวในเดือนกันยายน ปี 1969 ในงานแสดงรถ IAA กองทัพเยอรมันสั่งซื้อ 2,000 คัน ราคาคันละ 8,500 มาร์ค ผลจากการทดสอบของนิตยสารรถพบว่า รถกินน้ำมันค่อนข้างมาก 8.3 กม./ลิตร แต่เมื่อเทียบกับสมรรถนะแล้วถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะทำความเร็วได้ 115 กม./ชม. แต่คงจะยากที่ใครจะขับแบบทนเสียงดังทุกทิศทุกทางขนาดนั้นได้ เพราะที่ความเร็ว 70 กม./ชม. หูก็ทนเสียงแทบไม่ไหวแล้ว แต่ถ้าหากขับด้วยเกียร์ต่ำที่ความเร็วไม่สูงนักจะเป็นรถที่ขับสนุก ใช้เวลาเพียง 6.5 วินาทีเมื่อทำความเร็วจาก 0-50 กม./ชม. เป็นรถที่ขับง่ายบนถนนขรุขระปานกลางวิ่งผ่านถนนลูกรังได้สบายๆ แถมยังไม่กระด้างอีกด้วย ถ้าต้องการไต่ที่สูงชันก็สามารถจ่ายเพิ่มอีก 435 มาร์ค เพื่อติดตั้งชุด Limited Slip Differential

          ตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษโฟล์คได้ปรับปรุงรายละเอียดให้กับ T181 ตามการเปลี่ยนแปลงของรถเต่า แต่ที่โดดเด่นก็เห็นจะเป็นรุ่นปี 74 ที่เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ 48 แรงม้า กับยางหน้ากว้าง 185 SR 14 พร้อมกับเปลี่ยนมาใช้ช่วงล่างหลังแบบเพลาลอยเซมิเทลลิ่งอาร์มแบบเดียวกับรถเต่า1302 ส่งผลให้กลายเป็นรถออฟโรดเทียมไม่กี่ยี่ห้อที่เกาะถนนเป็นเยี่ยม T181 ถูกผลิตออกมาจนถึงรุ่นปี 1978 จำนวนทั้งสิ้น 70,395 คัน โดยในรุ่นปี 75 ได้ย้ายฐานการผลิตมาสู่เม็กซิโก สองปีสุดท้ายมีจำนวนการผลิตที่น้อยมาก ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยโฟล์คออฟโรดตัวจริงอย่าง VW lltis ที่ออกแบบโดยออดี้

ที่มา: Joachim Kuch. Volkswagen Model Documentation. Robert Bentley Publishers. 1999.

เรื่อง : SIAMVWFESTIVAL

แปลโดย : อาจารย์ สฤษดิ์ ศรีโยธิน

เตรียมเนื้อหาจัดวางโดย : นาย ธนชาติ โอสถหงษ์

เจ้าของรถ : คุณ ณัฐกร นาราษฎร์ / 1972 Volkswagen Thing Type 181 

ติดตามข่าวสารโฟล์คสวาเก้นได้ที่เว็บไซต์ www.siamvwfestival.com หรือ FB FANPAGE SIAMVWFESTIVAL https://www.facebook.com/siamvwfestival2023

Translate »